มะเร็งปากมดลูก คร่าชีวิตผู้หญิงไทยครึ่งหมื่นคนต่อปี
มะเร็งถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ 1 แต่หากพูดถึงชนิดของมะเร็งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมากที่สุด ‘มะเร็งปากมดลูก’ จะต้องติดอยู่ในรายชื่ออันดับต้น ๆ ไปแบบไม่ต้องสงสัย โดยแต่ละปีพบว่าในประเทศไทยผู้หญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกประมาณ 9,000 คน/ปี และพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 4,000 – 5,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 50% ของผู้หญิงที่เป็นโรคนี้เลยทีเดียว
ซึ่งโรคมะเร็งปากมดลูกมักพบได้ในเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ก่อน 30 ปี ไปจนถึง 80 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้วมักพบในกลุ่มคนอายุระหว่าง 35 – 50 ปี โดยผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมที่คิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และมีความรู้สึกเขินอายหากต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจภายในเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นกว่าจะรู้ถึงความผิดปกติของร่างกาย ก็อาจอยู่ในขั้นความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับที่ลุกลามและยากต่อการรักษาเสียแล้ว
ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงเป็นมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเกิดมาจากเซลล์บริเวณปากมดลูกที่มีความผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้จากการระคายเคืองของสารเคมี ไปจนถึงสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือการติดเชื้อไวรัส (Human Papilloma Virus) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยง ๆ อื่นที่เป็นชนวนทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนี้
- การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนหลายคน หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน เป็นต้น
- การสูบบุหรี่
- การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
- การตั้งครรภ์หรือมีบุตรหลายคน
- ภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ดี
- ละเลยและไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

และที่น่าเป็นห่วงก็คือในช่วงแรก ๆ ของการเผชิญหน้ากับโรคมะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ซึ่งอาการจะแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่มะเร็งเริ่มมีการลุกลามและอาจมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เช่น หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หลังหมดประจำเดือน มีตกขาว ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด ที่อาจเกิดขึ้นมาเพราะมะเร็งได้มีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ข้างเคียงแล้ว
สัญญาณเตือนมะเร็งปากมดลูก
- มีเลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดขึ้นได้หลายช่วงเวลา เช่น ตอนที่มีเพศสัมพันธ์ หลังมีเพศสัมพันธ์ หรือประจำเดือนที่มาผิดปกติก็ได้เช่นกัน
- ตกขาวมีเลือดปน โดยปกติแล้วการที่ผู้หญิงเรามีตกขาวบ้างในช่วงก่อนหรือหลังจะมีประจำเดือนนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่หากมีมากเกินไปและมีเลือดปนอาจเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งก็ได้
- รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หากคุณมั่นใจว่าเตรียมตัวพร้อมแล้วสำหรับการเพศสัมพันธ์ ช่องคลอดไม่ได้แห้งจนรู้สึกเจ็บเสียด แต่ขณะมีเพศสัมพันธ์กลับรู้สึกเจ็บปวดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน หรือเจ็บปวดบ่อยครั้งก็ไม่ควรปล่อยไว้เด็ดขาด
- มีสารคัดหลั่งออกมาจากช่องคลอดจำนวนมากและอาจมีเลือดปน
- ปวดท้องน้อยบ่อยเกินปกติ แม้จะไม่ใช่ช่วงใกล้มีประจำเดือนก็ตาม หรือช่วงที่ใกล้มีประจำเดือนแต่อาการปวดท้องประจำเดือนมีมากกว่าที่เคย
- รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากอาหาร กินอาหารได้น้อยลง จนน้ำหนักตัวเริ่มลดลงอย่างผิดสังเกต
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ และรู้สึกไม่มีแรงอยู่ตลอดเวลา
- ปัสสาวะบ่อยครั้ง รวมถึงอาจมีอาการปวดท้องน้อย ท้องน้อยบวม หรือหากคุณไม่มีได้มีพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะ แต่บางครั้งกลับรู้สึกปวดปัสสาวะแต่ปัสสาวะไม่ออก จำเป็นจะต้องเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโดยละเอียด
เรื่องโรคภัยไข้เจ็บมีอยู่รอบตัว วันนี้อาจจะดีพรุ่งนี้อาจจะป่วยเป็นเรื่องของอนาคตที่เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ เพราะฉะนั้นระวังตัวเองให้ดีที่สุดและอย่าลืมเลือกทำประกันสุขภาพเอาไว้ เพราะอย่างน้อย ๆ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา คุณสามารถมั่นใจได้เลยว่าจะเงินสำรองเพียงพอต่อการรักษาโดยไม่ต้องคอยกังวลเลยว่าจะกระทบกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ มีไว้ยังไงก็ดีกว่าแน่นอน